ข้อไหล่ติด คือ อาการที่ข้อไหล่ กล้ามเนื้อบริเวณไหล่ เนื้อเยื่อ เส้นเอ็น เกิดการอักเสบ มีแถบเนื้อเยื่อที่ผิดปกติทำให้ไหล่ยึดติด หรือมีกระดูกที่งอกออกภายในข้อไหล่ ทำให้จำกัดวงในการขยับไหล่ รู้สึกปวดเมื่อขยับไหล่ ปวดเมื่อนอนกดทับไหล่ หรือปวดในเวลากลางคืน โดยมากมักจะพบในวัยกลางคนขึ้นไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
คนไข้ไหล่ติดมักเป็นคนไข้ที่เริ่มมีอายุมากขึ้น มีโรคประจำตัวคือเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และใช้ยาลดไขมัน ยาเบาหวาน มีจำนวนมากที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อและไหล่ติด
หมอเหมียวสอบถามจากคนไข้ที่มารับการรักษาที่คลินิก ส่วนมากยาแก้ปวด การฝึกยกแขนด้วยตัวเอง มักไม่ค่อยได้ผล เพราะคนไข้รู้สึกเจ็บ และยกแขนไม่ขึ้น รู้สึกตึงรั้งบริเวณไหล่ ต้นแขน
จากประสบการณ์การรักษาคนไข้ไหล่ติดของหมอเหมียว การฝังเข็มเพื่อปรับสมดุลฮอร์โมนต่างๆในร่างกาย ควบคู่กับการฝังเข็มเพื่อคลายกล้ามเนื้อ ให้ผลการรักษาที่ดี
ในมุมมองแพทย์แผนจีน ข้อไหล่ติดโดยส่วนมากพบในคนไข้ที่เป็นวัยกลางคนขึ้นไป เกิดจากชี่พร่อง เลือดลมติดขัด ทำให้ไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงเส้นเอ็นได้มากพอ เมื่อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่น ทำให้เกิดอาการปวดขึ้นมา นอกจากนี้ปัจจัยภายนอกอย่างอากาศเย็น อากาศชื้นเกินไป (เช่น นั่งตากแอร์นานๆ หรือตากฝน) หรือมีประวัติการบาดเจ็บภายนอกก็มีผลทำให้ไหล่ติดเช่นกัน
แนวทางการรักษาของแพทย์แผนจีน การฝังเข็มจะทำให้ชี่และเลือดไหลเวียนดีขึ้น ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ การรักษามักจะอยู่ที่ 6 ครั้งเป็นอย่างน้อย มารักษาตามนัด ระยะห่าง 4-7 วัน นอกจากนี้ การใช้ยาสมุนไพรจีน ตามสาเหตุของการเกิดโรค และพื้นฐานของร่างกายคนไข้แต่ละคน บำรุงชี่ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด บำรุงเส้นเอ็น ขับไล่พิษความชื้นหรือความเย็นออกจากเส้นลมปราณและข้อต่างๆ สามารถรักษาอาการได้เช่นกัน
หลังการรักษา แนะนำคนไข้สามารถทำท่ากายบริหารง่ายๆที่บ้านได้ด้วยตนเอง โดยท่ากายบริหารแบบง่ายๆเหล่านี้ เพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ และเพิ่มองศาในการกางแขน ยกแขน ยืดไหล่
1.ท่านิ้วไต่กำแพง โดยหันหน้าเข้าหากำแพง เอาฝ่ามือวางที่ผนังแล้วใช้นิ้วไต่ผนังขึ้นไปเรื่อยๆให้สูงที่สุดเท่าที่จะทนปวดได้ แล้วขีดเครื่องหมายไว้ วันต่อๆมาพยายามใช้นิ้วไต่กำแพงให้ได้มากกว่าระดับความสูงเดิม
2.ท่าหมุนข้อไหล่ โดยให้ยืนก้มตัวลงเล็กน้อย ใช้มืออีกข้างพยุงลำตัวไว้ ปล่อยแขนข้างที่ไหล่ติด ห้อยลงตรงๆ ค่อยๆหมุนแขนเป็นวงกลม ทำซ้ำๆ
3.จับผ้าถูหลัง โดยใช้มือจับผ้าทางด้านหลัง โดยมือแต่ละข้างจับปลายผ้าแต่ละด้าน มือข้างหนึ่งอยู่ด้านบน ข้างหนึ่งอยู่ด้านล่าง ใช้มือข้างที่อยู่ด้านบนพยายามดึงผ้าให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วค้างไว้ 10 วินาที
4. ประคบอุ่นช่วงบริเวณหัวไหล่ เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว และเลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ลองคุมน้ำตาล ไขมันในเลือด หากมีการปรับลดยา ก็อาจทำให้อาการไหล่ติดทุเลาลงได้เช่นกัน