ในมุมมองแพทย์แผนจีนนั้น ร่างกายคนเราประกอบไปด้วยพลังชี่ เลือดและสารน้ำ ซึ่งไหลเวียนปกคลุมไปทั่วร่างกาย นอกจากนี้ในมุมมองแพทย์แผนจีน ร่างกายคนเรายังมีเส้นลมปราณ (เปรียบคล้ายกับถนน แม่น้ำ ลำคลอง) ที่เชื่อมพลังงานจากทั่วทั้งร่างกายเข้าสู่อวัยวะภายในต่างๆ พลังชี่ เลือด และสารน้ำก็วิ่งผ่านเส้นลมปราณเหล่านี้
การที่เราปักเข็มลงไปยังจุดฝังเข็ม เหมือนเป็นการส่งสัญญาณไปยังร่างกาย กระตุ้นให้ชี่วิ่งผ่าน และไหลเวียนไปยังอวัยวะภายใน หากมีการกระตุ้น ร่างกายก็สามารถปรับสมดุลการทำงานให้ประสานกันได้ดีขึ้น การฝังเข็มคล้ายกับการจัดระเบียบจราจรของชี่ให้วิ่งเข้าอวัยวะภายในอย่างไม่ติดขัด เพื่อกระตุ้นให้อวัยวะเหล่านั้นทำงานประสานกันได้ดีขึ้น อาการเจ็บป่วย อาการปวดก็ทุเลาลง เหมือนหมอเป็นเพียงผู้ช่วยให้คนไข้เท่านั้น การฟื้นตัวของร่างกายเกิดจากการที่ร่างกายทำงานกันอย่างสมดุล จึงหายป่วย
หากมองในมุมของแพทย์แผนปัจจุบัน ก็มีงานวิจัยรองรับว่าการฝังเข็มนั้นช่วยในการหลั่งฮอร์โมนความสุขบางขนิดออกมา ซึ่งช่วยให้ร่างกายของเราทนต่อความเจ็บปวดได้ดีขึ้น หรืออีกนัยนึงคือทำให้คนไข้รู้สึกปวดน้อยลง ปัจจุบันการฝังเข็มจึงนิยมใช้ในการรักษาอาการปวดต่างๆได้ผลดี รวมไปถึงมีส่วนช่วยในการลดใช้ยาแก้ปวด และบางประเทศในยุโรปและอเมริกาก็ใช้การฝังเข็มร่วมกับการผ่าตัด เพื่อลดผลข้างเคียงและปริมาณในการใช้ยาได้ด้วย
แต่จริงๆแล้วหากได้มีประสบการณ์ในการรักษามากขึ้น จะพบว่าการฝังเข็มไม่เพียงสามารถรักษาอาการปวดได้เท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยอื่นๆได้อีกมาก เช่น อาการปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีบุตรยาก ไมเกรน ภูมิแพ้ ชะลอวัย ลดน้ำหนัก หรือแม้กระทั่งกรดไหลย้อน หอบหืด เป็นต้น
นอกจากนี้สมัยตอนเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย หมอเหมียวต้องเข้าแลปที่ใช้เครื่องมือทดสอบการทนความเจ็บปวดหลังจากทำการฝังเข็มไปแล้ว ทั้งกับคนและกับหนูทดลอง ปรากฏว่าหลังจากทำการฝังเข็มไปแล้ว พบว่าคนสามารถทนต่อระดับความเจ็บปวดได้ดีขึ้น รวมถึงหนู(มีการเจาะรูเล็กๆที่กระโหลกของหนู เพื่อใช้เครื่องมือจี้วัดคลื่นสมอง)ก็มีคลื่นสมองที่เปลี่ยนไป หลังจากทำการฝังเข็มแล้ว รายละเอียดการเปลี่ยนแปลง ก็อยู่ที่จุดที่ใช้ในการฝังเข็มด้วยเช่นกัน
ในวิชาที่เข้าแลปทดลองเรื่องการฝังเข็ม ไม่ได้มีแต่การทดลองจุดฝังเข็มเพื่อทนต่อความเจ็บปวดเท่านั้น ยังมีรายละเอียดอื่นๆอีก เช่น วัสดุที่ใช้ทำเข็มฝังเข็ม ทอง เงิน ทองแดง นำความร้อน นำไฟฟ้า ส่งผลต่อการรักษายังไงบ้าง รวมถึงตอนที่ฝึกงานในโรงพยาบาล ก็เห็นอาจารย์นำมาใช้กับคนไข้จริงเช่นกัน และมีการบันทึกผลการรักษาและนำมาเรียบเรียงเป็นสถิติ เพื่อพัฒนาคุณภาพและเทคนิคในการรักษาต่อไป เรียกว่าต้องอาศัยทั้งความรู้และประสบการณ์