รสชาติยาสมุนไพรจีน

รสชาติยาสมุนไพรจีน

โรคบางโรครักษาด้วยการฝังเข็มอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องใช้ยาสมุนไพรร่วมด้วย ซึ่งคนไข้มักจะกังวลว่ายาสมุนไพรจะทานยาก หรือต้องขมมากแน่ๆ (รูปแบบของยาสมุนไพรจีน ไม่ได้มีแค่ยาต้ม มีทั้งยาเม็ด ยาผง ยาสกัดเพื่อมาละลายน้ำหรือบรรจุขวดแก้วพร้อมทาน) โดยรสชาติของยาจีนหลักๆจะมี 5 รส ซึ่งแต่ละรสชาติ การออกฤทธิ์และสรรพคุณจะต่างกันออกไป

1. รสเผ็ด

    รสเผ็ดจะทำให้ชี่และเลือดไหลเวียนดี ขับเคลื่อนการไหลเวียนของชี่ เมื่อชี่ไหลเวียนดี เลือดก็ไหลเวียนดีตามไปด้วย ดังนั้นจึงมีฤทธิ์ทำให้ขับเหงื่อ สะลายเลือดคั่ง เหมาะกับคนที่เป็นหวัด มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล ที่เกิดจากพิษความร้อนหรือพิษความเย็นเป็นเหตุ (แต่การเลือกใช้ยาจำเป็นต้องแบ่งว่ายาชนิดไหนเป็นยาร้อนหรือยาเย็น) หรือคนที่มีอาการปวดจากการที่ชี่ติดขัดหรือมีเลือดคั่ง

    ตัวอย่างยา เช่น ดอกคำฝอย (红花 Flos Carthami) ใช้สะลายเลือดคั่ง ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ใบมิ้นต์ (薄荷 Herba Mentha) เหมาะกับคนที่มีอาการหวัดจากพิษความร้อน มู่เซียง (木香 Radix Aucklandiae) ช่วยขับเคลื่อนชี่

    2. รสหวาน

    รสหวานมีฤทธิ์บำรุง ทำให้ชุ่มชื้น และปรับฤทธิ์ตัวยาอื่นๆให้ประสานกัน เหมาะกับคนที่มีอาการชี่พร่อง พลังงานม้ามและกระเพาะไม่เพียงพอ ปวดท้อง ท้องผูกจากสารน้ำในลำไส้ไม่เพียงพอ และบำรุงสารน้ำในปอด ช่วยให้ปอดทำงานดีขึ้น

    ตัวอย่างยา เช่น หวงฉี (黄芪 Radix Astragali) ออกฤทธิ์บำรุงชี่ เหมาะกับคนที่มีอาการชี่พร่อง ชะเอมเทศ (甘草 Radix Glycyrrhizae) ช่วยปรับฤทธิ์ยาตัวอื่นๆให้เข้ากันและระงับปวด น้ำผึ้ง (蜂蜜 Mel) เพิ่มความชุ่มชื้นให้ลำไส้ แก้อาการท้องผูก

    3. รสเปรี้ยว

    รสเปรี้ยวมีฤทธิ์กักเก็บ ดูดซึม สกัดกั้น เหมาะกับอาการชี่พร่องอย่างรุนแรง จนทำให้ร่างกายกักเก็บพลังงานไว้ไม่อยู่ เช่น คนที่เหงื่อแตกไม่หยุด ตกเลือดประจำเดือน ปัสสาวะราดแบบกลั้นไม่อยู่ ฝันเปียก(แบบถี่ๆร่างกายกักเก็บเชื้ออสุจิไว้ไม่อยู่) ท้องเสียรุนแรง

    ตัวอย่างยา เช่น อูเหมย (乌梅 Fructus Mume) อู่เว่ยจือ (五味子 Fructus Schisandrae) มีฤทธิ์ระงับไอ ระงับอาการท้องเสีย ซานจูหยวี (山茱萸 Fructus Corni) แก้ปัสสาวะราด ฝันเปียก

    4. รสขม

    รสขมส่วนใหญ่เป็นยาที่มีฤทธิ์เย็น มีฤทธิ์ทำให้แห้ง (แก้พิษความชื้นในร่างกาย) ขับให้ชี่เคลื่อนลง เหมาะกับอาการที่มีความร้อนค้างอยู่ที่อวัยวะหัวใจ (เช่น คนไข้ที่มักจะนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย) หรือจะเป็นคนไข้ที่มีความร้อนสะสมในปอด ในลำไส้ (เช่น คนไข้ที่ไอไม่หยุด เสมหะเหลืองข้น หรือคนไข้ที่ร้อนกระสับกระส่ายมีอาการท้องผูก)

    ตัวอย่างยา เช่น หวงเหลียน (黄连 Rhizoma Coptidis) ช่วยระบายพิษความชื้นและร้อนของปอด ต้าหวง (大黄 Radix et Rhizoma Rhei) ช่วยระบายความร้อนของลำไส้ ทำให้ถ่ายท้อง

    5. รสเค็ม

    รสเค็มช่วยละลายก้อน และระบาย เหมาะกับคนไข้ที่คลำพบก้อนในร่างกาย เช่น ก้อนบริเวณคอ หรือ ก้อนที่บริเวณอื่นๆในร่างกาย

    ตัวอย่างยา ไห่จ้าว (海藻 Sargassum) มีฤทธิ์สะลายก้อน หมางเซียว (芒硝 Natrii Sulfas) ช่วยให้ถ่ายท้อง

    นอกเหนือจากรสชาติหลักๆที่กล่าวมา 5 รสนี้ ยังมีรสที่รวมอยู่ในรสหลักอีก 2 รส คือ รสจืดและรสฝาด ทั้งนี้ทั้งนั้นรสชาติยาที่ยกตัวอย่างมาแต่ละตัว อาจไม่ได้มีรสชาติเหมือนตามรสชาติหลักในทางแพทย์แผนจีนซะทีเดียว แต่จะมีรสชาติโดยสังเขปและแนวโน้มการออกฤทธิ์ตามที่กล่าวข้างต้น

    การปรุงยาในแต่ละตำหรับก็ไม่ได้จะมีรสขมเสมอไป ยาบางตำหรับมีรสจืด บางตำหรับออกเปรี้ยว บางตำหรับออกหวาน สรรพคุณที่ออกฤทธิ์ก็ไม่เหมือนกัน การใช้ยาสมุนไพรจีนอย่างปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์จีนที่มีใบประกอบโรคศิลป์เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา

    หากใครมานำเสนอว่ามียาสมุนไพรสรรพคุณครอบจักรวาล ก็อย่าพึ่งเชื่อ ลองไตร่ตรองให้ดีก่อนว่ายาดีสรรพคุณครอบจักรวาลไม่มีจริง

    Scroll to Top