จริงๆแล้วรูปแบบของยาจีนนั้นมีหลายรูปแบบค่ะ ทั้งแบบยาน้ำ(นำสมุนไพรมาต้ม) ยาเม็ด(ยาลูกกลอน ปั้นกับน้ำ หรือน้ำผึ้ง) ยาผง(ผสมน้ำ) ยาทาภายนอก ยาต้มที่นำมาชำระล้างแผล เป็นต้น แต่เนื่องจากยาจีนที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นยาน้ำ หัวข้อนี้จะอธิบายวิธีการต้มยาโดยทั่วไปให้คนที่สนใจรักษาด้วยศาสตร์แพทย์จีน สามารถทานยาจีนได้ ให้ทราบกันค่ะ
เริ่มจากอุปกรณ์ต้มยาก่อน คือหม้อ แนะนำให้ใช้เป็นหม้อดินเผา ไม่แนะนำให้ใช้หม้อโลหะ เพราะหลังจากที่ยาผ่านความร้อน ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างยากับโลหะได้ค่ะ และหม้อต้มยาควรมีฝาหม้อ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำระเหยเร็วเกินไประหว่างการต้มยา
คุณภาพน้ำและปริมาณที่ใช้ แนะนำให้ใช้น้ำสะอาด น้ำกรอง หรือจะน้ำกลั่น(ในที่นี้ไม่ใช่น้ำกลั่นเติมรถยนต์นะคะ อันนั้นนำมาบริโภคไม่ได้ เป็นอันตรายต่อร่างกาย) ได้ทั้งหมดค่ะ โดยทั่วไปยาหนึ่งห่อในทางแพทย์จีนจะแนะนำให้ต้มได้ 2 ครั้ง ปริมาณน้ำจึงขึ้นอยู่กับปริมาณยา ในการต้มยาครั้งแรก ควรใส่น้ำให้ท่วมตัวยาประมาณ 3-5 ซม. น้ำที่ใส่ในการต้มครั้งที่สองลดลงจากครั้งแรกเล็กน้อย หลังจากต้มยาเสร็จแต่ละครั้ง เหลือปริมาณยาน้ำ 150-180 ซีซี นำยาที่ได้จากการต้มครั้งแรกและครั้งที่สองมาผสมกัน แล้วเทแบ่งครึ่ง แบ่งกินได้ 2 ครั้งใน 1 วัน (โดยทั่วไปยา 1 ห่อ ต้มได้ 2 ครั้ง ฉะนั้นยา 1 ห่อจึงควรทานให้หมดภายใน 1 วัน)
ไฟที่ใช้ในการต้ม จะแบ่งเป็นไฟแรงและไฟอ่อนค่ะ เริ่มแรกพึ่งต้มยาให้ใช้ไฟแรง ต้มจนกว่ายาจะเดือด แล้วเบาไฟลง ต้มต่อจนน้ำเริ่มงวด ก็ถือว่าเป็นอันใช้ได้ค่ะ
นอกจากนี้ยาจีนบางชนิดยังแบ่งเป็นยาที่ต้องต้มก่อน ต้มหลัง บรรจุถุงกรอง หรือ ตุ๋นแยก เป็นต้น อีกด้วยค่ะ
ยาที่ต้องต้มก่อน จะเป็นยาประเภทแร่ ไข่มุก เปลือกหอย Mother of Pearl กระดูกสัตว์ เช่น กระดองเต่า กระดองตะพาบ เป็นต้น ยาเหล่านี้จะมีเนื้อแข็ง ทำให้ต้องใช้เวลาและความร้อนมากกว่ายาทั่วไป จึงจะสามารถผลักดันสรรพคุณยาออกมาได้ จึงควรนำมาต้มก่อนยาชนิดอื่นๆซัก 20-30 นาที
ยาที่ต้องใส่ทีหลัง จะเป็นยาประเภทที่มีน้ำมันมีกลิ่นหอม จึงไม่ควรต้มนาน จะทำให้สรรพคุณถูกทำลายได้ เช่น ใบมิ้นต์ เป็นต้น
ยาที่ต้องบรรจุถุงกรองในการต้ม ป้องกันการกระจายของยา ส่วนใหญ่จะใช้กับยาที่เป็นเม็ดๆ หรือยาที่เป็นละอองเกสร หรือยาที่เป็นใบไม้ แล้วมีขนอ่อนๆติดมา
ยาที่ต้องต้มหรือตุ๋นแยก จะเป็นยาที่มีราคาแพง เช่น โสม หรือ ถังเช่า เพื่อป้องกันตัวยาถูกยาอื่นๆบดบังสรรพคุณ
ยาที่ต้องใช้ความร้อนทำให้ละลายก่อน แล้วค่อยนำมาผสมกับยาอื่น เช่น เออเจียว (ยาที่ทำจากลา สีดำ มีลักษณะคล้ายๆเจลลี่แข็งๆ ใช้บำรุงเลือด) น้ำผึ้ง เป็นต้น เพราะตัวยามีความเหนียว หากต้มพร้อมยาชนิดอื่น ทำให้สรรพคุณยาตัวอื่นไม่สามารถถูกขับออกมาจากการต้มได้
ยาที่บดผงแล้วนำมาชงผสมทีหลัง ส่วนใหญ่จะเป็นยาที่มีราคาแพงและหายาก เช่น อำพัน หนิวหวง(นิ่วในถุงน้ำดีวัว ราคาแพงยิ่งกว่าทอง ยิ่งกว่าเพชร) เป็นต้น
หลังจากที่ต้มยาเสร็จแล้ว ควรจะกรองยา แยกกากและคั้นยาออกมา เพื่อสรรพคุณสูงสุดในการรักษาค่ะ
และที่ว่ามาทั้งหมดนี้ คือความรู้เบื้องต้น ที่ใช้ทั่วไปในการต้มยาจีนค่ะ