บทความนี้ต่อเนื่องจากบทความก่อนหน้าเรื่องชี่ (气:Qi) ว่าร่างกายคนเราตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า แขน ขา มือ เท้า ส่วนกลางลำตัวทั้งด้านหน้าและด้านหลังล้วนปกคลุมไปด้วยชี่ เปรียบเสมือนพลังงาน หากจะเทียบให้เห็นภาพก็คือ ส่วนกลางลำตัวข้างในคืออวัยวะภายใน เปรียบคือมหาสมุทร ที่เป็นแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ แล้วแบ่งย่อยไปยังศีรษะ แขน ขา มือ เท้า นิ้วมือ นิ้วเท้า ที่ไล่ลำดับแยกย่อยเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แยกแตกเป็นลำคลอง แยกย่อยไปยังร่องคูน้ำ แล้วสุดท้ายแยกย่อยอีกไปจนถึงบ่อน้ำหลังบ้านตามลำดับ จากทางน้ำสายใหญ่ไปสายเล็ก จากสายเล็กไปสายใหญ่ ที่คอยลำเลียงชี่หรือพลังงาน เชื่อมอวัยวะภายในสู่ส่วนต่างๆของร่างกายผ่านเส้นลมปราณ ซึ่งบนเส้นลมปราณเหล่านี้มีจุดฝังเข็ม พอจะนึกภาพตามได้แล้วใช่มั้ยคะ
บนเส้นลมปราณต่างๆในร่างกายมีจุดจุดฝังเข็ม (穴位:Acupuncture Point) ที่ทำหน้าที่เหมือนสถานีพลังงาน หรือจะเรียกว่าเป็นสวิตช์ , ประตูเปิดปิดพลังงานก็ได้ ซึ่งเส้นลมปราณและจุดฝังเข็มแต่ละเส้น แต่ละจุด เชื่อมต่ออวัยวะภายในที่แตกต่างกัน (รายละเอียดที่ว่าร่างกายเราประกอบไปด้วยเส้นลมปราณอะไรบ้าง มีจุดกี่จุด หมอเหมียวจะไม่พูดถึงนะคะ เพราะเกรงว่าจะยากและน่าเบื่อเกินไป กลัวทุกท่านอ่านแล้วนึกว่าต้องไปสอบ ขอเขียนให้ความรู้แบบสบายๆ)
แล้วหากเส้นลมปราณติดขัดหรือมีปัญหา จะส่งผลอย่างไร
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเส้นลมปราณเปรียบเสมือนเส้นทางน้ำหรือถนนที่ลำเลียงชี่จากพื้นที่ไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง หรือจากพื้นที่หนึ่งไปสู่อวัยวะภายใน หากเกิดการติดขัด อุดกลั้นอาจมีสัญญาณเตือนในรูปแบบของอาการปวด หรืออวัยวะภายในทำงานไม่ประสานกันได้ เป็นต้น ยกตัวอย่างอาการของเส้นลมปราณกระเพาะอาหารติดขัด ไหลเวียนไม่สะดวก ควรไหลลง แต่กลับตีขึ้น ทำให้คนไข้มีอาการสะอึก หรือ คลื่นไส้ อาการเหล่านี้ ถ้าในแง่แพทย์จีนก็แก้ไขได้โดยการนวดคลึง หรือฝังเข็มจุดฝังเข็มที่เส้นลมปราณกระเพาะอาหารวิ่งผ่าน ระบายพลังงาน ก็สามารถช่วยให้อาการสะอึก หรือ คลื่นไส้อาเจียนทุเลาได้ หรือจะใช้ยาที่ช่วยระบายชี่ ทำให้ชี่ไหลเวียนสะดวกขึ้น ไหลไปในทิศทางที่ควรไป ก็ช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน
นอกจากนี้ จุดฝังเข็มบนร่างกายที่ได้อธิบายไปว่าเปรียบเหมือน สถานี สวิตช์ หรือประตูบนเส้นลมปราณ ถ้าอธิบายให้เห็นภาพ ลองจินตนาการว่า จุดฝังเข็มคือสถานีจราจร ควบคุมแผงไฟเขียว ไฟแดง บนถนนหรือสี่แยก แล้วเส้นลมปราณคือถนนต่างๆที่วิ่งคู่ขนานกันไป หรือวิ่งมาตัดกันก็ได้ รถบนถนนเปรียบเหมือนชี่ในร่างกาย บางครั้งที่ถนนบางเส้นรถเยอะเกินไป หรือเกิดอุบัติเหตุ ทำให้รถติดขัด การควบคุมแผงไฟจราจรเพื่อระบายรถจากถนนเส้นหนึ่งไปยังอีกเส้น หรือควบคุมไม่ให้รถวิ่งไปยังถนนบางเส้นมากเกินไป ทำให้การจราจรไหลเวียนได้สะดวกขึ้น ร่างกายคนเราก็เช่นกัน ที่บางครั้งชี่เกิดอุดกลั้น ชี่น้อยหรือมากเกินไป จนทำให้เรารู้สึกไม่สบายตัว หรือกระทั่งทำให้อวัยวะภายในทำงานไม่ประสานกัน การใช้จุดฝังเข็มให้เป็นประโยชน์ก็เพื่อแก้ปัญหานี้ ทำให้เรารู้สึกโล่ง และสบายขึ้น พอจะเข้าใจขึ้นแล้วใช่มั้ยคะ
หมอเหมียวมีทริคง่ายๆในการรักษาเส้นลมปราณเราให้ชี่ไหลเวียนสะดวก โดยที่ไม่ต้องเสียเงินเยอะเลย คือการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ รักษาความคิดและจิตใจให้ปลอดโปร่ง ผ่อนคลาย เพราะอย่าลืมว่าอารมณ์ ความคิด ก็คือชี่ในรูปแบบหนึ่งเช่นกัน