ก่อนอื่นขออธิบายการใช้ยาสมุนไพรจีนก่อนว่าการจ่ายยาต่างๆให้คนไข้ การนำยามาปรุงตามตำหรับยาต่างๆนั้น ล้วนเป็นไปตามหลักการพื้นฐานของทฤษฎีแพทย์แผนจีน ประกอบกับการวินิจฉัยและอาการของคนไข้
โดยทั่วไปสมุนไพรจีนจะถูกแบ่งออกเป็นฤทธิ์ร้อน ฤทธิ์เย็น ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ยาฤทธิ์ร้อนเหมาะสำหรับรักษาอาการเย็น เช่น ที่คนไข้แสดงมาว่าหนาวสั่น ท้องเสียง่ายเป็นต้น (อาการหยางพร่องและ/หรืออาการหยินแกร่ง) ยาฤทธิ์เย็นเหมาะสำหรับรักษาอาการร้อน เช่น ที่คนไข้แสดงมาว่ามีไข้ เสมหะเหลือง ท้องผูก เป็นต้น (อาการหยินพร่องและ/หรือหยางแกร่ง) ถ้าจะสรุปให้ง่ายลงไปอีก ก็คือ ยาร้อนรักษาอาการเย็น ยาเย็นรักษาอาการร้อน รวมถึงสรรพคุณของยาตัวนั้นๆ
นอกจากนี้การใช้ยาสมุนไพรจีนยังคำนึงถึงรสของสมุนไพรอีกด้วย ขม หวาน เค็ม เผ็ด เปรี้ยว จืด ฝาด ล้วนมีแนวโน้มในการออกฤทธิ์ไม่เหมือนกัน การออกฤทธิ์ของยาต่ออวัยวะภายในอีกเช่นกันที่จะเป็นตัวตัดสินว่าเราจะจัดยานี้ลงในตำหรับยาให้คนไข้หรือไม่
แนวโน้มในการออกฤทธิ์ของยาว่าส่งผลต่อทิศทางของชี่ในร่างกายอย่างไร นำชี่ของร่างกายออกสู่ภายนอก หรือนำกลับสู่ภายใน ก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยในการเลือกใช้ยา
นี่ขนาดแค่ยา 1 ตัว ปัจจัยในการเลือกใช้ยายังมีมากมายขนาดนี้ ยิ่งถ้าเป็นตำหรับสูตรยาที่นำตัวยาหลายชนิดมาผสมกันยิ่งต้องอาศัยทั้งประสบการณ์และความรู้ในการรักษามาต่อยอด เพื่อให้ได้ผลการรักษาสูงสุดค่ะ