การฝังเข็มคือ การใช้เข็มจิ้มผ่านผิวหนัง ชั้นไขมัน กล้ามเนื้อ ลงไปตามจุดฝังเข็มตามตำแหน่งต่างๆในร่างกาย โดยการเลือกจุดฝังเข็มในการรักษาเป็นไปตามหลักทฤษฎีแพทย์แผนจีน โดยค้างเข็มไว้ที่ตำแหน่งต่างๆ เป็นระยะเวลาโดยทั่วไป 20 – 30 นาที แล้วดึงเข็มออก (โดยทั่วไปคือลักษณะนี้ แต่มีการฝังเข็มบางเทคนิคที่อาจจะค้างเข็มไว้นานกว่านั้น ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาของหมอแต่ละท่านค่ะ)
แล้วเข็มที่ใช้เป็นยังไง ใหญ่เท่าเข็มฉีดยามั้ย
โดยทั่วไปแล้วเข็มที่ใช้ในการฝังเข็มเป็นเข็มที่ผ่านการ sterilize ฆ่าเชื้อและบรรจุใส่กล่อง มีวันผลิตและหมดอายุที่ชัดเจน โดยปลายเข็มไม่มีตัวยาใดๆทั้งสิ้น ซึ่งเข็มที่ใช้จะมีขนาดต่างๆ เลือกใช้จากตามตำแหน่งต่างๆของร่างกาย เช่น บริเวณใบหน้าหรือศีรษะ จะเลือกใช้เข็มสั้น บางพิเศษ (ขนาดใหญ่กว่าเส้นผมหน่อย บางมาก) เพราะผิวหน้าและหนังศีรษะบองบาง บริเวณสะโพก จะใช้เข็มที่หนาและยาวขึ้น (แต่ขนาดก็บางกว่าเข็มฉีดยาที่ใช้ฉีดวัคซีนอยู่ดี) เพราะบริเวณสะโพกมีกล้ามเนื้อที่หนากว่า และมีชั้นไขมัน การใช้เข็มที่หนาและยาวกว่าจึงทำให้การรักษามีประสิทธิภาพกว่า
แล้วฝังเข็มเจ็บมั้ย
ความรู้สึกในการฝังเข็มขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล คนไข้บางคนสามารถทนความเจ็บได้มาก ไม่ค่อยรู้สึกอะไร คนไข้บางคนค่อนข้างไวต่อความรู้สึก แต่โดยทั่วไปแล้ว อาจมีความรู้สึกตึง หน่วง ชา หนักๆ บริเวณจุดที่ฝังเข็ม คนไข้สามารถบอกความรู้สึกกับหมอได้เลยค่ะ สบาย ไม่สบาย หรือเจ็บ เพื่อที่หมอจะสามารถปรับความลึก องศาเข็มให้เหมาะสม ให้คนไข้รู้สึกสบายที่สุดตลอดการรักษา และแนะนำให้คนไข้ปล่อยใจให้สบาย คลายความกังวล หรือรู้สึกอย่างไรสามารถบอกหมอได้ เพื่อที่หมอจะได้ทำการรักษาให้ดีที่สุดค่ะ
ในมุมมองแพทย์แผนจีนนั้น ในร่างกายคนเราประกอบไปด้วยพลังชี่ เลือดและสารน้ำ ซึ่งไหลเวียนปกคลุมไปทั่วร่างกาย นอกจากนี้ในมุมมองแพทย์แผนจีน ร่างกายคนเรายังมีเส้นลมปราณ (เปรียบคล้ายกับถนน แม่น้ำ ลำคลอง) ที่เชื่อมพลังงานจากทั่วทั้งร่างกายเข้าสู่อวัยวะภายในต่างๆ พลังชี่ เลือด และสารน้ำก็วิ่งผ่านเส้นลมปราณเหล่านี้ การที่เราปักเข็มลงไปยังจุดฝังเข็ม เหมือนเป็นการส่งสัญญาณไปยังร่างกาย กระตุ้นให้ชี่วิ่งผ่านและไหลเวียนไปยังอวัยวะภายใน ซึ่งร่างกายมนุษย์ฉลาดอยู่แล้ว หากมีการกระตุ้นก็สามารถปรับสมดุลการทำงานให้ประสานกันได้ดีขึ้น การฝังเข็มก็คล้ายกับเราไปจัดระเบียบจราจรของชี่ให้วิ่งเข้าอวัยวะภายในอย่างไม่ติดขัด เพื่อกระตุ้นให้อวัยวะเหล่านั้นทำงานประสานกันได้ดีขึ้น อาการเจ็บป่วย อาการปวดก็ทุเลาลง เหมือนหมอเป็นเพียงผู้ช่วยให้คนไข้เท่านั้น การฟื้นตัวของร่างกายเกิดจากการที่ร่างกายทำงานกันอย่างสมดุล จึงหายป่วย
หากมองในมุมของแพทย์แผนปัจจุบัน ก็มีงานวิจัยรองรับว่าการฝังเข็มนั้นช่วยในการหลั่งฮอร์โมนความสุขบางขนิดออกมา ซึ่งช่วยให้ร่างกายของเราทนต่อความเจ็บปวดได้ดีขึ้น หรืออีกนัยนึงคือทำให้คนไข้รู้สึกปวดน้อยลง จึงเป็นที่มาว่า ปัจจุบันการฝังเข็มนิยมใช้ในการรักษาอาการปวดต่างๆได้ผลดี รวมไปถึงมีส่วนช่วยในการลดใช้ยาแก้ปวด และบางประเทศในยุโรปและอเมริกาก็ใช้การฝังเข็มร่วมกับการผ่าตัด เพื่อลดผลข้างเคียงและปริมาณในการใช้ยาได้ด้วย
แต่จริงๆแล้วหากได้มีประสบการณ์ในการรักษามากขึ้น จะพบว่าการฝังเข็มไม่เพียงสามารถรักษาอาการปวดได้เท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยอื่นๆได้อีกมาก เช่น อาการปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีบุตรยาก ไมเกรน ภูมิแพ้ ชะลอวัย ลดน้ำหนัก หรือแม้กระทั่งกรดไหลย้อน หอบหืด เป็นต้น