อัมพาตครึ่งซีกที่ใบหน้า (Bell’s Palsy)

โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง ไม่มีอันตรายถึงชีวิตแต่หากใครเป็นขึ้นมาคงมีความกังวลใจ ส่งผลต่อความมั่นใจในการเข้าสังคม  อาการของโรคนี้ หากได้รับการรักษาตั้งแต่พึ่งเริ่มมีอาการ โอกาสในการรักษาให้หายขาดจนใบหน้าทั้งสองข้างกลับมาสมดุลกันมีมาก เรามาทำความเข้าใจกับโรคนี้กันค่ะ

อาการของโรค Bell’s Palsy

โรคนี้มักจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และรุนแรงภายใน 48 ชั่วโมง โดยจะมีอาการคือ กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก ใบหน้าชา ไม่สามารถยักคิ้วได้ ตาปิดไม่สนิท หนังตา และมุมปากตก รับประทานน้ำแล้วไหลออกมาจากมุมปาก บางรายอาจมีอาการปวดบริเวณหลังใบหู มีอาการระคายเคืองที่ตา รู้สึกตาแห้ง หรือมีน้ำตาไหล รับรสชาติได้น้อยลง

การจำแนกอาการหน้าเบี้ยวของ Bell’s Palsy และอาการหน้าเบี้ยวจากโรคหลอดเลือดในสมอง

โรคหน้าเบี้ยวกับโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตนั้นเป็นคนละโรคกัน โดยโรคหน้าเบี้ยวจะเกิดความผิดปกติขึ้นที่เส้นประสาทคู่ที่ 7 แต่โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมองจะเกิดความผิดปกติขึ้นที่เนื้อสมอง แม้จะมีอาการหน้าเบี้ยวเหมือนกัน แต่โรคหลอดเลือดสมองจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น แขนและขาอ่อนแรง มีอาการชาตามแขน ขา เป็นต้น

สาเหตุของโรค Bell’s Palsy

เกิดจากเส้นประสาทสมองที่ 7 อักเสบ เป็นภาวะที่เส้นประสาทสมอง (Cranial Nerve) ที่ควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าถูกทำลายและสูญเสียการทำงาน ทำให้มีอาการใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หนังตาและมุมปากตก น้ำลายไหลจากมุมปาก สามารถพบได้ในทุกเพศและทุกเชื้อชาติ ซึ่งสาเหตุมาจากการอักเสบของเส้นประสาทสมอง (Cranial Nerve) ที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้า ส่วนหนึ่งพบหลักฐานว่าเกิดได้จากการติดเชื้อไวรัส ที่พบบ่อย คือ เชื้อเริม งูสวัด HIV เป็นต้น

มุมมองของแพทย์แผนจีนต่อโรค Bell’s Palsy

เกิดจากพลังงานของที่ชี่ผ่านเส้นลมปราณใบหน้าบริเวณที่มีอาการมีไม่เพียงพอ ทำให้สูญเสียแรงในการควบคุมกล้ามเนื้อบนใบหน้า  การรักษาตามแนวทางแพทย์แผนจีนทำได้โดยการฝังเข็มและกระตุ้นไฟฟ้าโดยจำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 5 – 10 ครั้งขึ้นไป ขึ้นอยู่กับระดับอาการและพื้นฐานร่างกายของคนไข้ โดยการมารับการรักษาตั้งแต่พึ่งเริ่มมีอาการนั้นมีโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้สูง และไม่ทิ้งร่องรอยของโรคได้ ยิ่งมารักษาเร็วยิ่งได้ผลดี

หากเป็นคนไข้ที่มีอาการมานานแล้ว และยังคงมีอาการอัมพาตครึ่งซีกที่ใบหน้าอยู่ การฝังเข็มก็อาจจะทำให้อาการดีขึ้นได้ แต่ไม่รับรองว่าจะหายขาด เพราะปล่อยช่วงโอกาสทองในการรักษาให้ผ่านไปนาน ทั้งนี้ทั้งนั้นล้วนขึ้นอยู่กับอาการและพื้นฐานร่างกายของคนไข้อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นค่ะ

Scroll to Top