
กรดไหลย้อน ในทางแพทย์แผนจีนจะใช้คำว่า 胃气上逆 หมายถึง ทิศทางของชี่กระเพาะอาหารที่ควรจะไหลลง กลับไหลย้อนขึ้น ทำให้รู้สึกไม่สบาย ตามมาด้วย 胃不和,则卧不安 หมายถึง เมื่อกระเพาะอาหารทำงานแบบไม่ Harmony ส่งผลทำให้นอนหลับไม่สงบ คนไข้ที่มีอาการกรดไหลย้อน มักมีปัญหาเรื่องการนอน
กรดไหลย้อนในมุมมองแพทย์แผนปัจจุบัน
อาการกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease หรือ GERD) เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการไม่สบายหรือปวดบริเวณหน้าอกและลำคอ โดยอาการหลักๆ มักเป็นดังนี้
- แสบร้อนกลางอก (Heartburn) รู้สึกแสบหรือร้อนบริเวณหน้าอก โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารหรือในขณะที่นอน
- เรอเปรี้ยว มีกรดจากกระเพาะอาหารย้อนกลับขึ้นมาในลำคอหรือปาก ทำให้มีรสเปรี้ยวหรือขม
- แน่นหน้าอก รู้สึกแน่นหรืออึดอัดบริเวณหน้าอก หรือช่วงท้อง
- กลืนลำบาก มีอาการเจ็บหรือรู้สึกไม่สบายเมื่อกลืนอาหาร
- ไอเรื้อรัง ไอที่เกิดจากการระคายเคืองของหลอดอาหารจากกรดไหลย้อน (คนไข้หลายๆท่านที่ไอเรื้อรัง นึกว่ามีปัญหาหลอดลมอักเสบ แต่จริงๆต้นตออาจมาจากกรดไหลย้อน)
- เสียงแหบ เสียงแหบ หรือมีอาการเจ็บคอเรื้อรัง จากกรดที่ย้อนขึ้นไปถึงกล่องเสียง
สาเหตุของกรดไหลย้อน
- หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างอ่อนแรง หูรูดที่ทำหน้าที่กั้นไม่ให้กรดไหลย้อนอาจทำงานผิดปกติ หรือหูรูดไม่แข็งแรง ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร
- รับประทานอาหารที่กระตุ้น เช่น อาหารที่มีไขมันสูง เผ็ดจัด อาหารทอด ช็อกโกแลต กาแฟ แอลกอฮอล์ หรืออาหารที่มีกรดสูง อาจทำให้หูรูดหลอดอาหารผ่อนคลายหรือทำให้เกิดกรดไหลย้อน
- การรับประทานอาหารปริมาณมากในมื้อเดียว อาจทำให้กระเพาะอาหารขยายและเพิ่มแรงดันต่อหูรูดหลอดอาหาร
- คนที่มีน้ำหนักตัวมากอาจมีแรงดันในกระเพาะอาหารมากขึ้น ทำให้เกิดการไหลย้อนของกรดได้ง่ายขึ้น
- การนอนราบหรือนอนหลังทานอาหารทันที อาจทำให้กรดไหลย้อนขึ้นมาได้ง่ายขึ้น
- การสูบบุหรี่ทำให้หูรูดหลอดอาหารอ่อนแรง และเพิ่มโอกาสเกิดกรดไหลย้อน
ดังนั้นการดูแลสุขภาพโดยการปรับพฤติกรรม และรับประทานอาหารที่เหมาะสม สามารถลดอาการกรดไหลย้อนได้ด้วยเช่นกัน
อาการกรดไหลย้อนในมุมมองของแพทย์แผนจีน
ในมุมมองของแพทย์แผนจีนมองว่า ชี่(พลังงาน)ของกระเพาะอาหาร ปกติแล้วจะมีทิศทางการไหลเวียนลงล่าง หากชี่(พลังงาน)ของกระเพาะอาหารไม่ไหลเวียนไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ก็ทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ ซึ่งนอกเหนือจากกรดไหลย้อนแล้ว อาจปรากฏเป็นอาการสะอึก หรือเรอไม่หยุด
ศัพท์เฉพาะในแพทย์จีนเรียก 胃氣上逆 ซึ่งหลักๆ ก็เกิดจากการหมุนเวียนของชี่ในร่างกายโดยรวมไม่สมดุล มีภาวะพร่องหรือภาวะแกร่งของอวัยวะหลักๆ คือ ม้าม กระเพาะอาหาร และตับ รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต
แนวทางการรักษาของแพทย์แผนจีน
การรักษาหลักๆที่หมอเหมียวเลือกใช้อันดับแรกคือ การฝังเข็ม เพื่อปรับสมดุลการไหลเวียนของชี่ภายในร่างกายคนไข้ใหม่ ให้ไหลไปในทิศทางที่ควรจะเป็น หากจำเป็นจริงๆ สามารถใช้ยาสมุนไพรจีน มาช่วยส่งเสริมผลการรักษาร่วมด้วย แต่จะใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ดังนั้นภาพรวมการรักษาด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน คือการปรับสมดุลร่างกายคนไข้ใหม่ ทั้งยังสามารถลดการใช้ยาเคมีต่างๆได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนไข้จำเป็นต้องให้ความร่วมมือในการมารักษาอย่างต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้ และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อสุขภาพของตัวคนไข้เองที่ดีระยะยาว