ปวดประจำเดือน pms

ปวดประจำเดือน pms

ผู้หญิงหลายคนอาจมีปัญหาปวดประจำเดือนทุกเดือน หรือแม้กระทั่งมีอาการ PMS (Premenstrual syndrome) ในบางรายอาจหมดเรี่ยวแรง ปวดท้อง และทรมานมากจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หากมีอาการปวดมากๆ หมอเหมียวขอแนะนำว่าอย่าปล่อยไว้นาน เพราะร่างกายของเราอาจมีความผิดปกติอยู่ก็ได้ แนะนำให้เข้ารับการตรวจเพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติของอาการที่เป็นค่ะ

สาเหตุของอาการปวดประจำเดือน

อาการปวดประจำเดือน เกิดมาจากการที่บริเวณกล้ามเนื้อมดลูกมีการหดเกร็งตามธรรมชาติ เพื่อให้ร่างกายได้เกิดการขับเนื้อเยื่อ และหลุดลอกเนื้อเยื่อนั้นออกมาเป็นประจำเดือนเมื่อไม่มีการปฏิสนธิ ในบางรายที่มีความผิดปกติอาจทำให้มีการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงจนอาจเกิดการกดทับหลอดเลือดในบริเวณใกล้เคียง จนทำให้ออกซิเจนไม่สามารถเข้าไปเลี้ยงกล้ามเนื้อในบางส่วนได้ตามปกติ

การรักษาอาการปวดประจำเดือน

การฝังเข็มสามารถช่วยลดอาการปวดประจำเดือนและอาการ PMS ได้ ในตำราแพทย์แผนจีนได้ลงบันทึกไว้ว่าอาการปวดท้องประจำเดือนในขั้นปฐมภูมินั้น* (เป็นอาการปวดท้องทั่วไปไม่มีโรคอื่นๆ ที่ร้ายแรงแทรกซ้อน) เกิดจาก

  1. การพร่องของชี่และเลือดของตับ
  2. การพร่องของไตหยาง ทำให้ชี่และเลือดเกิดการอุดกั้น
  3. มีความเย็น ความชื้นภายในร่างกายมากเกินไป

จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือน (หากปล่อยไว้ไม่แก้ไข อาจทำให้เกิดเป็นพยาธิสภาพที่จับต้องได้ เช่น เนื้องอก ช็อคโกแลตซีสต์ เป็นต้น)

โดยการฝังเข็มจะช่วย

  • ปรับสมดุลร่างกายและเส้นลมปราณ
  • กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและชี่
  • ลดอาการเลือดคั่ง
  • ทำให้มดลูกมีความอบอุ่น

ซึ่งจะทำให้อาการปวดท้องลดลง ช่วยให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่เกิดความทรมานเมื่ออยู่ในช่วงเป็นประจำเดือน

การฝังเข็มแนะนำให้เริ่มฝังเข็มก่อนการมีประจำเดือนประมาณ 1 สัปดาห์ หรือเมื่อมีอาการปวดประจำเดือนอยู่ก็สามารถมาฝังเข็มเพื่อลดปวดได้ สำหรับคนไข้ที่ประจำเดือนมาไม่ตรงรอบ ก็สามารถฝังเข็มก่อนได้เช่นกัน และในบางรายที่มีอาการปวดปั้นเอว ปวดหลังร่วมด้วย การฝังเข็มก็สามารถช่วยลดอาการปวดเหล่านี้ได้

ข้อแนะนำเพิ่มเติมที่สามารถนำไปปฎิบัติเองเพื่อลดอาการปวดประจำเดือนได้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงที่มีประจำเดือน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น หรืออาหารเย็นๆ
  • พยายามรักษาร่างกายให้อบอุ่น ใส่เสื้อผ้าให้พอ หากทำงานในออฟฟิศที่เปิดแอร์เย็นๆ
  • บริหารความเครียดให้ดี เครียดมากทำให้ปวดประจำเดือนได้
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่หักโหมเกินไป (ช่วยลดความเครียดได้)
Scroll to Top